วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

สัปดาห์ที่6


 ความหมายและประเภทของรูปแบบ   

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2542 (2546 : 965) ให้ความหมายไว้ว่ารูปแบบ หมายถึง รูปที่กำหนดขึ้นเป็นหลักหรือเป็นแนวซึ่งเป็นที่ยอมรับ สอดคล้องกับแนวคิดของทิศนา  แขมมณี (2550 : 220) ซึ่งกล่าวไว้ว่า รูปแบบ (Model) เป็นรูปธรรมของความคิดที่เป็นนามธรรม ซึ่งบุคคลแสดงออกมาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น เป็นคำอธิบาย เป็นแผนผัง ไดอะแกรม หรือ แผนภาพ เพื่อช่วยให้ตนเองและบุคคลอื่นสามารถเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น รูปแบบจึงเป็นเครื่องมือทางความคิดที่บุคคลใช้ในการสืบเสาะหาคำตอบ ความรู้ ความเข้าใจในปรากฏการณ์ทั้งหลาย สอดคล้องกับแนวความคิดของ เบญจพร  แก้วมีศรี(2545:39) ที่กล่าวไว้ว่า  รูปแบบหมายถึง ตัวแทนของความเป็นจริงเป็นการทำให้ความสลับสับซ้อน  สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น  เป็นการสะท้อนบางส่วนของปรากฏการณ์ออกมาให้เห็นความสำพันธ์ต่อเนื่องและความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน  รวมถึงการเชื่อมโยงสิ่งที่เกี่ยวข้องมาไว้ด้วยกัน  โดยจะต้องใช้ข้อมูล  เหตุผลและฐานคติมาประกอบ  การแสดงรูปแบบสามารถทำได้หลายลักษณะ  นอกจากนั้นวิสุทธิ์  วิจิตรพัชราภรณ์  (2547:10) กล่าวไว้ว่า  รูปแบบเป็นการจำลองภาพในอุดมคติที่นำไปสู่การอธิบาย  คุณลักษณะสำคัญของปรากฎการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น  เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
จากการศึกษาความหมายของรูปแบบของนักวิชาการหลายๆคนสามารถสรุปความหมายของรูปแบบได้ว่า  คำว่า  รูปแบบมาจากภาษาอังกฤษว่า  Model เป็นการจำลองความคิดเพื่ออธิบายให้เป็นรูปธรรมเพื่อง่ายต่อความทำความเข้าใจ โดยอาจเป็นคำอธิบาย หรือแผนผัง หรือไดอะแกรม หรือแผนภาพความเหมาะสม  โดยระบุถึงองค์ประกอบหลักและองค์ประกอบรอง  พร้อมทั้งบอกถึงรายละเอียดและขั้นตอนในการพัฒนารูปแบบได้อย่างชัดเจน  นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการกล่าวถึงประเภทของรูปแบบเอาไว้ดังต่อไปนี้
 คีฟส์ (Keeves  1988:561-565) แบ่งประเภทของรูปแบบออกเป็น5แบบได้แก่
1.รูปแบบเชิงเปรียบเทียบ (Analogue  Model)  เป็นความคิดที่แสดงออกในลักษณะของการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆอย่างน้อย2สิ่งขึ้นไป
 2.รูปแบบเชิงภาษา (Semantic  Model)  เป็นความคิดที่แสดงออกผ่านทางภาษาโดยการพูดและเขียน  
           3.รูปแบบเชิงคณิตศาสตร์ (Mathematic   Model)  เป็นความคิดที่แสดงออกผ่านทางรูปคณิตศาสตร์
           4.รูปแบบเชิงแผนผัง ( Schematic  Model)  เป็นความคิดที่แสดงออกผ่านทางแผนผัง  แผนภาพ  ไดอะแกรม  กราฟ  เป็นต้น
 5.รูปแบบเชิงสาเหตุ(Causal  Model)  เป็นความคิดที่แสดงให้เห็นถึงความสำพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรต่างๆของสภาพการณ์/ปัญหา
 สมิธ  และคนอื่น(Smith  and  other 1980:461)ได้จำแนกประเภทของรูปแบบออกได้ดังนี้
         1.รูปแบบเชิงกายภาพ (Physical Model)  ได้แก่
             1.1 รูปแบบคล้ายจริง (Iconic Model) มีลักษณะคล้ายของจริง
             1.2 รูปแบบเหมือนจริง (Analog Model) มีลักษณะคล้ายปรากฏการณ์จริง
          2.  รูปแบบเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Model) ได้แก่
              2.1 รูปแบบข้อความ (Verbal Model) หรือรูปแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative Model)
              2.2 รูปแบบทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Model) หรือรูปแบบเชิงปริมาณ (Quantitative Model)
    นิคม  ทาแดง (2536:12) จำแนกชนิดของรูปแบบได้ดังนี้
          1.รูปแบบที่ยึดกฎเกณฑ์เป็นรูปแบบที่มีระเบียบใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
          2.รูปแบบที่ใช้พรรณนาเป็นรูปแบบที่ใช้บรรยายสิ่งที่เป็นอยู่ว่ามีลักษณะเช่นไร
          3.รูปแบบที่มีตัวตน เป็นรูปแบบที่มีตัวตนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
          4.รูปแบบที่ไม่มีตัวตน เป็นรูปแบบที่ต้องจินตนาการ
          สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับการเลือกรูปแบบ  สรุปได้ว่าขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการนำเสนอว่าจะนำเสนออย่างไรจึงจะสะท้อนถึงความคิดได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของผู้นำเสนอ โดยจะต้องพิจารณาถึงลักษณะของสิ่งนำเสนอด้วย
          4.2 องค์ประกอบของรูปแบบ ลักษณะของรูปแบบที่ดี และการทดสอบหรือตรวจสอบรูปแบบ ในการสร้างรูปแบบ ควรประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ดังที่ นิคม ทาแดง (2536 : 131-132) กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า รูปแบบอาจประกอบด้วย องค์ประกอบต่างๆดังต่อไปนี้
         1. ส่วนประกอบ เป็นส่วนหนึ่งของระบบซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากการกระทำต่างๆ เพื่อแสดงผลลัพธ์ของระบบ
             2. ตัวแปร เป็นคุณสมบัติที่กำหนดขึ้นของระบบภายใต้เงื่อนไขต่างๆกัน ซึ่งอาจจำแนกได้หลายชนิด
           3. พารามิเตอร์ เป็นคุณสมบัติของระบบ
          4. ฟังก์ชั่นความสัมพันธ์ เป็นฟังก์ชั่นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพารามิเตอร์ และตัวแปรต่างๆในระบบ ซึ่งจะบอกถึงพฤติกรรมของระบบนั้น
         สรุปได้ว่าในการสร้างรูปแบบ ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนที่เป็นปัจจัย กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์ สภาพแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ โดยแสดงถึง ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆอย่างมีเหตุผล ในการสร้างรูปแบบ ผู้สร้างจะต้องคำนึงถึงลักษณะของรูปแบบที่ดี โดยในการสร้างรูปแบบให้เป็นรูปแบบที่ดี ได้มีผู้กล่าวถึงลักษณะของรูปแบบที่ดีไว้ดังต่อไปนี้
คีฟส์ (Keeves 1988 : 560) กล่าวไว้ว่ารูปแบบที่ใช้ประโยชน์ได้ ควรมีลักษณะ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
    1. รูปแบบ ควรประกอบด้วยความสัมพันธ์อย่างมีโครงสร้างมากกว่าความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันแบบรวมๆ
    2. รูปแบบ ควรใช้เป็นแนวในทางพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นซึ่งสามารถรวบรวมได้โดยการสังเกต ซึ่งเป็นไปได้ที่จะทดสอบรูปแบบบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ได้
     3. รูปแบบ ควรจะต้องระบุหรือชี้ให้เห็นถึงกลไกเชิงเหตุผลของเรื่องที่ศึกษา ดังนั้นนอกจากรูปแบบจะเป็นเครื่องมือในการพยากรณ์ได้ ควรใช้อธิบายปรากฏการณ์ได้ด้วย
      4. รูปแบบ ควรเป็นเครื่องมือในการสร้างมโนทัศน์ใหม่และสร้างความสัมพันธ์ของตัวแปรในลักษณะใหม่ ซึ่งเป็นการขยายในเรื่องที่กำลังศึกษา
เบญจพร  แก้วมีศรี (2545 : 92-93) กล่าวไว้ว่าการสร้างรูปแบบที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
      1. รูปแบบควรประกอบด้วยความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างตัวแปรมากกว่าเน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรแบบรวมๆ
       2.รูปแบบควรนำไปสู่การพยากรณ์ที่ตามมา ซึ่งสามารถรวบรวมได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยเมื่อทดสอบรูปแบบแล้วถ้าปรากฏว่าไม่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์รูปแบบนั้นต้องถูกยกเลิกไป
       3. รูปแบบควรอธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของเรื่องที่ศึกษาได้อย่างชัดเจน
       4. รูปแบบควรนำไปสู่การสร้างแนวความคิดใหม่หรือความสัมพันธ์ของเรื่องที่ศึกษาได้
       5.รูปแบบในเรื่องใดจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับกรอบของทฤษฎีในเรื่องนั้นๆ
          สรุปได้ว่า ในการสร้างและพัฒนารูปแบบที่ดีจะต้องได้มาจากแนวคิดของทฤษฎี ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรต่างๆ เพื่ออธิบายถึงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของเรื่องที่ศึกษาได้ครอบคลุมและชัดเจน ซึ่งรูปแบบที่ดีจะต้องผ่านการทดสอบหรือตรวจสอบก่อนนำไปใช้จริง เนื่องจากจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการสร้างรูปแบบ คือ การทดสอบหรือตรวจสอบรูปแบบที่สร้างขึ้นมาว่ามีความถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกับการนำรูปแบบไปใช้ประโยชน์ต่อไปหรือไม่ โยมีผู้กล่าวถึงวิธีการในการทดสอบรูปแบบดังต่อไปนี้
    1. การทดสอบด้วยการประเมิน มาดัส สไครเวน และ สตัฟเฟิลบีม (Madaus, Scriben and Stufflebeam 1983 : 399-402) ได้เสนอการนำเสนอมาตรฐานการตรวจสอบรูปแบบเอาไว้ดังต่อไปนี้
        1.1 มาตรฐานความเป็นไปได้ (Feasibility Standards) เป็นการประเมินการเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติจริง
        1.2 มาตรฐานด้านความเป็นประโยชน์ (Utility Standards) เป็นการประเมินการสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้รูปแบบ
        1.3 มาตรฐานด้านความเหมาะสม (Propriety Standards) เป็นการประเมินความเหมาะสมทั้งในด้านกฎหมายและศีลธรรมจรรยา
        1.4 มาตรฐานด้านความถูกต้องครอบคลุม (Accuracy Standards) เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือ และได้สาระครองฃบคลุมครบถ้วนตามกรอบต้องการแท้จริง
 2. การทดสอบรูปแบบโดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง อิสเนอร์ (Eisner 1976: 192-193) กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
        2.1 การประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จะเน้นการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างลึกซึ้งในประเด็นที่ถูกนำมาพิจารณา ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับคุณภาพ
ประสิทธิภาพและความเหมาะสมของสิ่งที่จะทำการประเมิน
        2.2 การประเมินที่เป็นความเฉพาะทางในเรื่องที่จะประเมินเนื่องจากเป็นการวัดคุณค่า ที่ไม่อาจวัดด้วยเครื่องมือใดๆ จะต้องใช้ความรู้ความสามรถของผู้ประเมินอย่างแท้จริง
        2.3 การใช้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเครื่องมือในการประเมินจะต้องเชื่อถือว่าผู้ทรงคุณวุฒินั้น มีความเที่ยงตรงและมีเหตุผลที่ดี
        2.4 การใช้ผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องยอมรับในความยืดหยุ่นของกระบวนการทำงานของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งการกำหนดประเด็นสำคัญ ที่จะนำมาพิจารณา การบ่งชี้ข้อมูลที่ต้องการ การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล การวินิจฉัยข้อมูล ตรงตามการนำเสนอ
         สรุปได้ว่ารูปแบบที่สร้างขึ้นมาก่อนที่จะนำไปใช้จริงควรได้รับการประเมิน ทดสอบความเหมาะสมโดยการใช้การประเมินในลักษณะต่างๆ รวมทั้งการทดสอบโดย ใช้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ประเมิน เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพ ของรูปแบบก่อนนำไปใช้จริง


อ้างอิง
ที่มา : https://drjirapan.wordpress.com. หลักการและแนวคิดในการพัฒนาวิจัยรูปแบบ. เข้าถึงเมื่อ 4 มีนาคม 2561.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น