วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สัปดาห์ที่ 13

การวางแผนการเขียนแผนการสอนและแผนการจัดการเรียนรู้



1. ความหมายการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอน เป็นกิจกรรมในการคิดและการกระทำของครูก่อนดำเนินการสอนในวิชาใดวิชาหนึ่ง ประกอบด้วย การกำหนดจุดมุ่งหมาย การคัดเลือกเนื้อหา การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนและการประเมินผล เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเรียนการสอนอย่างละเอียด จะได้ดำเนินการเรียนการสอนได้ถูกต้องและตรงตามจุดประสงค์
2. ความจำเป็นของการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสอนที่ดี เพราะการวางแผนการสอนเป็นการเลือกและตัดสินใจ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการจัดเตรียมเนื้อหาโดยนำเนื้อหามาบูรณาการกัน ทำให้ง่ายต่อการศึกษาทำความเข้าใจ และช่วยให้ผู้สอนเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการเรียนการสอนอย่างชัดเจน สามารถจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ผู้สอนมีโอกาสได้ทราบเจตคติและความรู้พื้นฐานของผู้เรียน ทำให้สามารถเลือกวิธีสอน และการประเมินผลได้ถูกต้อง และโดยเฉพาะกรณีที่ผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนได้ผู้สอนท่านอื่นก็สามารถที่จะเข้าสอนแทนได้โดยง่าย
3. ข้อมูลที่ถูกต้องใช้ในการวางแผนการสอน
1. สภาพปัญหาและทรัพยากร ข้อมูลทีเกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียนการสอนที่ผู้สอนรวบรวมได้จากการสำรวจปัญหาและตรวจสอบทรัพยากรในแง่กำลังคน งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ ข้อมูลส่วนนี้จะทำให้กำหนดรูปแบบการสอน กิจกรรมการเรียน และสื่อการสอนได้ชัดเจนขึ้น
2. การวิเคราะห์เนื้อหา กำหนดเป็นระดับหน่วยใหญ่ที่อาจต้องสอนหลายครั้ง ระดับหน่วยย่อยที่เป็นปลีกย่อยของหน่วยใหญ่ และระดับบทเรียนที่เป็นเนื้อหาของการสอน 1 ครั้ง สำหรับเนื้อหาของบทเรียนก็ต้องมีการวิเคราะห์ออกเป็นหัวเรื่อง และหัวข้อย่อยเช่นเดียวกัน
3. การวิเคราะห์ผู้เรียน เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนมีความจำเป็นสำหรับการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับผู้เรียนในระดับต่างๆ
4. ความคิดรวบยอด เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสาระ หรือ แก่นของเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับ
5. วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์เป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จในส่วนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในตัวผู้เรียน
ที่ผู้สอนกำหนดไว้ การกำหนดวัตถุประสงค์ต้องมีทั้งวัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะก็นิยมกำหนดไว้
ในรูปวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
6. กิจกรรมการเรียน เป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมการเรียนอะไรบ้างโดยคำนึงถึงกิจกรรมกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และกิจกรรมรายบุคคล กิจกรรมการเรียนต้องจัดไว้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
7. สื่อการสอน เป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าเช่นเดียวกัน โดยพิจารณากิจกรรมการเรียนเป็นหลัก
8. การประเมินผล เป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องคาดการณ์ไว้ว่าจะตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร ทั้งในส่วนที่เป็นพฤติกรรมเดิม (ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว) พฤติกรรมต่อเนื่อง (พฤติกรรมย่อยที่ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้ไปทีละน้อย) และพฤติกรรมขั้นสุดท้าย (พฤติกรรมที่เป็นผลลัพธ์ซึ่งผู้สอนคาดหมายไว้)
4. แนวทางการวางแผนการสอน
1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางการสอนที่ยึดหน่วยการสอนซึ่งครอบคลุมเนื้อหาสาระค่อนข้างกว้าง ต้องใช้เวลาในการสอนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เป็นภาคเรียนและเป็นปี โดยทำเป็นโครงการสอน เรียกตามหลักสูตรเก่าหรือหลักสูตรใหม่ เรียกว่ากำหนดการสอนนั่นเอง
          2. การวางแผนระยะสั้น หมายถึง การวางแผนการสอนของบทเรียนแต่ละเรื่องให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ผู้สอนที่ดีจำเป็นต้องมีแผนล่วงหน้าในการสอนทุกเรื่อง การวางแผนการสอนทำในรูปแบบต่างๆกัน และอาจเรียกว่า บันทึกการสอน หรือแผนการสอน แต่ในปัจจุบันสถานศึกษาทุกแห่งใช้คำว่าแผนการเรียนรู้หรือแผนการจัดการเรียนรู้แทน ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งก็ยังคงใช้ คำว่าแผนการสอนอยู่
ความหมายของกำหนดการสอน
การกำหนดการสอนเป็นการเตรียมการสอนล่วงหน้าของผู้สอนในระยะยาว แบ่งได้เป็น 3 ชนิด
          1. กำหนดการสอนรายปี
          2. กำหนดการสอนรายภาค
          3. กำหนดการสอนรายสัปดาห์
          การกำหนดการสอนต้องคำนึงถึงกำหนดวันปิดและเปิดภาคเรียน วันหยุดวันสำคัญต่างๆ การหยุดเรียนในวันที่มีกิจกรรมพิเศษ ตลอดจนการกำหนดวันสอบย่อย สอบปลายเทอม การกำหนดการสอนเสมือนการกำหนดตารางเวลาการดำเนินการสอนของผู้สอน การกำหนดเวลาและเนื้อหาสาระที่สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม โดยกำหนดเรื่องใดตอนใดต้องสอนก่อนหลังใช้เวลาแต่ละเรื่องมากน้อยเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสอนทำตามกำหนดที่ต้องการการกำหนดการสอนนี้จะทำแบบรายปี รายภาค รายสัปดาห์ ก็สามารถทำร่วมกันได้ ตามความเหมาะสมและผู้สอนเห็นสมควร
หลักการทำกำหนดการสอน
1. ผู้สอนที่สอนในระดับเดียวกันมาร่วมกันพิจารณาด้วยกัน
2. ช่วยกันสำรวจจำนวนคาบที่จะสอนในแต่ละหน่วยว่าเหมาะสมหรือไม่
3. เริ่มหัวข้อแต่ละหัวข้อย่อยมากำหนดในการกำหนดการสอนโดยให้สัมพันธ์กับเวลาหรือจำนวนคาบที่จะใช้สอน โดยพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
4. พิจารณาจำนวนคาบเวลาในแต่ละสัปดาห์ของ แต่ละวิชาให้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเวลาเรียนกับเนื้อหาแต่ละหัวข้อ
ประโยชน์ของการกำหนดการสอน
1. ใช้เป็นแนวทางในการทำแผนการสอน ผู้สอนเข้าใจและมองเห็นงานของตนได้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน สามารถพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมอยู่เสมอ
2. ช่วยให้การสอนเป็นไปตามหลักสูตร เหมาะสมกับผู้เรียนและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและชุมชน
3. ทำให้การเปลี่ยนแปลงผู้สอนใหม่ การรับงานของผู้สอนใหม่ การประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ช่วยสอนกับผู้สอน การจัดการผู้สอนแทน ฯลฯ เป็นไปด้วยดีไม่กระทบกระเทือนต่อผู้เรียน
4. ช่วยให้ผู้บริหาร ผู้นิเทศ รู้ลู่ทางที่จะแนะนำ ตลอดจนให้ความร่วมมือสนับสนุนด้วยประการต่างๆ
5. ทำให้การประเมินผลสะดวก เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
ความหมายของแผนการสอน
แผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร เป็นแนวทางในการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นให้ผู้สอนได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำผู้เรียนไปสู่จุดหมายของการศึกษา ผู้สอนอาจต้องปรับปรุงแผนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่นได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอนและการประเมินผล ทั้งนี้โดยความคิดรวบยอด จุดประสงค์การเรียนรู้หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเป็นหลัก ดังนั้นในการทำแผนการสอน หรือในการปรับปรุงการสอนเพื่อให้เกิดการสอนที่ดี ผู้สอนจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีในหลายๆด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านเทคนิควิธีการ ตลอดจนการนำสื่อมาใช้ เป็นต้น
ข้อควรคำนึงในการทำแผนการสอน
1. การศึกษาหลักสูตร คู่มือครู หรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ผู้สอนจะต้องศึกษาจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และรายละเอียดของเนื้อหาที่หลักสูตรกำหนดให้เข้าใจก่อนที่จะลงมือทำแผนการสอน
2. ความมุ่งหมายของสาระที่สอน ต้องให้ครอบคลุมความมุ่งหมายของการศึกษาทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านเจตคติและด้านทักษะ
3. กำหนดขอบเขตของเนื้อหา บทเรียนในกลุ่มสาระต่างๆที่จะสอน ให้มีขอบข่ายกว้างขวางตลอดจนความสามารถของผู้เรียนเป็นส่วนประกอบ
4. ทำความเข้าใจเนื้อหาที่สอนให้ถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งการหาความรู้เพิ่มเติม
5. พิจารณาเลือกวิธีสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา วัยวุฒิภาวะของผู้เรียน และควรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
6. พิจารณาเลือกสื่อการสอนให้เหมาะสมกับวิธีการสอน
7. กำหนดกิจกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
8. ดำเนินการวัดผลประเมินผลทุกครั้งที่ทำการสอน ด้วยวิธีต่างๆ ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์
คุณลักษณะของแผนการสอนที่ดี
1. มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรสถานศึกษาและปรัชญาของโรงเรียน
2. พิจารณากำหนดจุดประสงค์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น
3. จัดเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับเวลา สภาพความต้องการและความเป็นจริงของท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจ
4. จัดลำดับหัวข้อรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละตอนให้กลมกลืนกัน สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่เข้ากับประสบการณ์เดิม
5. กำหนดกิจกรรม และประสบการณ์ควรคำนึงถึงวัยผู้เรียน สภาพแวดล้อมกาลเวลา ความสนใจของผู้เรียน
องค์ประกอบของแผนการสอน
1. กลุ่มสาระวิชาและเรื่องที่สอน
2. หัวเรื่อง
3. ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ
4. จุดประสงค์หรือผลลัพธ์การสอน หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
5. เนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้
6. กิจกรรมการเรียนการสอน
7. สื่อการเรียนการสอน
8. ประเมินผล
9. หมายเหตุ
การปรับแผนการสอน
1.จุดประสงค์หรือแผนการเรียนรู้ ปรับจุดประสงค์บางเรื่องให้เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่สามารถประเมินผลหรือวัดผลได้
          2.เนื้อหา เนื้อหาสาระในแผนการสอนของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการนั้นได้กำหนดเนื้อหาไว้เพียงหัวข้อหยาบๆในบางหน่วยอาจจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในหลักสูตร เพื่อให้สะดวกต่อการจัดการเรียนการสอน และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาที่ต่อเนื่องกัน
          3.กิจกรรมการเรียนการสอน ในแผนการสอนได้กำหนดกิจกรรมเสนอแนะไว้มากมายเพื่อเป็นแนวทางการสอน และช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ได้ตามจุดประสงค์หรือมาตรฐาน และเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดรวบยอดในแผนการสอนบางหน่วย ผู้สอนอาจจะดัดแปลง หรือปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับบทเรียน
4.สื่อการเรียนการสอน ที่กำหนดไว้ในแผนการสอนประกอบด้วยของจริง ขิงจำลอง วัสดุ อุปกรณ์ แผนภูมิ แผ่นภาพและอื่นๆ ซึ่งผู้สอนจะปรับเปลี่ยนเป็นสื่อการสอนประเภทอื่นๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆมาแทนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน
          5.การประเมินผล ในแผนการสอนกลางของกรมวิชาการ นั้นได้กำหนดวิธีการประเมินไว้ให้ผู้สอนได้เลือกใช้หลายวิธี ซึ่งผู้สอนสามารถเลือกมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหา บทเรียน วัย วุฒิภาวะและความสามารถของผู้เรียน




อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น