วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

สัปดาห์ที่7


รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นโดยนักการศึกษาไทย





รูปแบบการเรียนการสอนทักษะกระบวนการเผชิญสถานการณ์พัฒนาโดยสุมน อมรวิวัฒน์




การจัดการเรียนรู้โดยการใช้กระบวนการเผชิญสถานการณ์  เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการกระทำกับการคิดวิเคราะห์เข้าด้วยกัน โดยผู้สอนสร้างหรือนำสถานการณ์ด้านต่างๆ มาให้ ผู้เรียนได้เผชิญสถานการณ์แบบต่าง ๆ  ซึ่งวงอาจเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงของผู้เรียน เป็นการฝึกให้ผู้เรียนมีควรเชื่อมั่นในการนำความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร มาสรุปประเด็น เพื่อประเมินค่าว่าสิ่งใดถูกต้อง ดีงาม เกิดประโยชน์ ควรหรือไม่ควรแก่การปฏิบัติ และสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ปฏิบัติได้จริง เมื่อมีการเผชิญสถานการณ์และเจอปัญหาวิธีการจัดการเรียนรู้นี้เป็นการประยุกต์มาจากหลักพุทธธรรมและพุทธวิธี เพื่อนำไปใช้ให้เหมาะกับการเวลา ลักษณะเนื้อหาสาระและวัยของผู้เรียน

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนการจัดการเรียนโดยใช้กระบวนการเผชิญสถานการณ์นั้น กรมวิชาการ (2530) และ สมุน อมรวิวัฒน์, 2530 อ้างถึงใน มยุรี วิมลโสภณกิตติ, 2538 เสนอไว้ดังนี้
1.ขั้นสร้างศรัทธา
ขั้นนี้เป็นกิจกรรมสร้างความสนใจและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ผู้เรียนสนใจและเชื่อมั่นว่าบทเรียนนี้สำคัญต่อชีวิตของเขา เชื่อมั่นว่าจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ เชื่อมั่นในตัวผู้สอนและเชื่อมั่นว่าบทเรียนนี้จะช่วยให้เขามีประสบการณ์ที่มีคุณค่า
2. ขั้นศึกษาสังคม (ฝึกทักษะรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ความรู้และหลักการ)
กิจกรรมนี้เป็นขั้นตอนที่เสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของผู้เรียนเพื่อนำไปสู่การฝึกนิสัยและทักษะในการแสวงหาความรู้ข่าวสาร ดังนั้นในการฝึกผู้เรียนให้สามารถเผชิญสถานการณ์เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้นั้น ผู้สอนจึงควรฝึกนิสัยฝึกทักษะในการแสวงหาความรู้เพื่อเป็นการเตรียมตัวในขั้นแรกของการศึกษา
3. ขั้นระดมเผชิญสถานการณ์ (ฝึกทักษะการประเมินค่า)
การฝึกฝนและการเรียนรู้ประสบการณ์ขั้นนี้เป็นขั้นตอนของการผจญปัญหา และสถานการณ์ เป็นการนำข่าวสารความรู้ที่ได้มาจัดสรุปประเด็นของข่าวสารไว้อย่างเป็นระเบียบ แล้วประเมินค่าว่าประเด็นไหนถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ประเด็นใดบกพร่อง ผิดพลาด ชั่วร้าย ไม่เหมาะสม ไม่ถูกไม่ควร ทำไปจะเกิดผลร้าย หรือเป็นผลดีชั่วครู่ ชั่วยาม เคลือบแฝงความชั่วร้ายเอาไว้
4.  วิจารณ์ความคิด (ฝึกทักษะการเลือกและการตัดสินใจ)
เมื่อผู้เรียนได้ฝึกการประเมินค่าข้อมูลต่างๆ ไว้หลายๆ ทางแล้วนั้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เร้าให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์ทางเลือกต่าง ๆ  ก่อนตัดสินใจซึ่งมีความสำคัญมาก ผู้เรียนจะต้องรู้
5.ปรับพฤติกรรม (ฝึกการปฏิบัติ)
การปฏิบัติการเรียนรู้ประสบการณ์เรียนรู้ขั้นนี้ เป็นขั้นตอนของการเผด็จการ คือ การลงมือแก้ปัญหา และเผชิญสถานการณ์จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี
6. สรุปและการประเมินผล
ขั้นตอนี้เป็นการนำสาระและกิจกรรมของบทเรียนนับแต่เริ่มต้น มาสรุปย้ำ ซ้ำ ทวนตรวจสอบ โดยวิธีที่ผู้เรียนประเมินตนเอง เพื่อนผู้เรียนประเมินซึ่งกันและกัน การประเมินผู้เรียนและวัดผลการเรียนการสอน

รูปแบบการเรียนการสอนโดยสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ พัฒนาโดยสุมน อมรวิวัฒน์


กระบวนการเรียนการสอน

ขั้นนำขั้นเสริมการสร้างศรัทธา
1.จัดบรรยากาศในชั้นเรียนรู้ ตัวอย่างเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ได้ในขั้นตอนนี้ เช่น การจัดสภาพบรรยากาศในชั้นเรียนให้มีลักษณะดังนี้
1.1. ต้องมีความสงบ
1.2. พยายามจัดให้นักเรียนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มีการใช้แหล่งวิทยาการในชุมชนให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง
 1.3. จัดสภาพในชั้นเรียนให้มีความแปลกใหม่ไม่จำเจ เช่น จัดการเรียนเป็นกลุ่มบ้างมีการเปลี่ยนกลุ่ม เปลี่ยนที่นั่ง
2. สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับศิษย์ ครูต้องปฏิบัติตัวเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์ คือ ต้องมีบุคลิกภาพสำรวม น่าเชื่อถือ ศรัทธา สง่า สะอาด แจ่มใสและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องมีความรู้มีคุณธรรมมีความเมตตาเอื้ออาทรทำให้ศิษย์มีความรู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาหาและปรึกษา
 3. ครูนำเสนอสิ่งเร้าและแรงจูงใจ ตัวอย่างเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ได้ในขั้นตอนนี้ เช่น ใช้วิธีตรวจสอบความคิดและความสามารถของนักเรียนก่อนสอน และแสดงผลการตรวจสอบให้นักเรียนได้รู้อย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อเป็นการเสริมแรงเร้า ให้เกิดความมานะพากเพียรฝึกหัดอบรมตนเอง ใช้สื่อการสอนและกิจกรรมที่น่าสนใจ ขั้นสอน
4. ครูเสนอปัญหาที่เป็นสาระสำคัญของบทเรียน เช่น ใช้วิธีนำเสนอที่หลากหลายและท้าทายความคิด
5. ครูแนะแหล่งข้อมูลความรู้ เช่น เตรียมรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งความรู้อย่างกว้างขวาง
6. ให้นักเรียนฝึกการรวบรวมข้อมูล เช่น ฝึกการทำงานเป็นอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะทางสังคม
7. จัดกิจกรรมเร้าให้นักเรียนเกิดความคิดวิธีต่างๆ
8. ให้นักเรียนฝึกการสรุปประเด็นของข้อมูล เพื่อหาทางเลือกวิธีแก้ปัญหา เช่น ให้นักเรียนฝึกกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ช่วยกันเปรียบเทียบประเมินทางเลือก
9. ให้นักเรียนเลือก และตัดสินใจ เช่น การลงมติร่วมกันภายในกลุ่ม ฝึกความเป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของการคิดอย่างมีเหตุผลปราศจากอคติ
10. ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ผลการเลือก เช่น ฝึกปฏิบัติงานตามแผน และการบันทึกผลข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบ เป็นการทำงานนอกและในเวลาเรียนโดยครูคอยสังเกตและให้คำแนะนำ
สรุป
11. ครูและนักเรียนร่วมกันสังเกตวิธีปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติ
12. ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปราย และสอบถามข้อสงสัย
13. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียน เช่น ใช้การอภิปรายกลุ่มช่วยกันสรุปสาระสำคัญ
14. ครูวัดและประเมินผลการเรียนการสอน เช่น การวัดด้วยการประเมินความคิดรวบยอดของนักเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน

การเรียนการสอนกระบวนการคิดเป็นเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมไทย พัฒนาโดยหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา


หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา (2537) ได้พัฒนารายวิชา “การคิดเป็นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมไทย” ขึ้นเพื่อพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้สามารถคิดเป็น รู้จักและเข้าใจตนเอง รายวิชาประกอบด้วยเนื้อหา 3 เรื่อง คือ 1. การพัฒนาความคิด (สติปัญญา) 2. การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม (สัจธรรม) 3. การพัฒนาอารมณ์ (ความรู้สึก)

 กิจกรรมที่ใช้ในการปฏิบัติ 4 กิจกรรมได้แก่ 1. กิจกรรมปฏิบัติ “การพัฒนากระบวนการคิด” 2. กิจกรรมปฏิบัติ “การพัฒนาหลักฐานความคิด” 3. กิจกรรมปฏิบัติ “การปฏิบัติการในชีวิตจริง” 4. กิจกรรมปฏิบัติ “การประเมินผลการพัฒนาประสิทธิภาพของชีวิตและงาน” ในส่วนกิจกรรมปฏิบัติการพัฒนากระบวนการคิดหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา ได้พัฒนาแบบแผนสามัญศึกษาในการสอน ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 5 ขั้น โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับการ “คิดเป็น” ของโกวิท วรพิพัฒน์ (อ้างถึงใน อุ่นณตา นพคุณ, 2530 : 29-36) ที่ว่า “คิดเป็น” เป็นการแสดงศักยภาพของมนุษย์ ในการชี้นำชะตาชีวิตของตนเอง โดยการพยายามปรับตัวเองและสิ่งแวดล้อมให้ผสมผสานกลมกลืนกันด้วยกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยการพิจารณาข้อมูล 3 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือ การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ

       ขั้นที่ 1 ขั้นสืบค้นปัญหา เผชิญสถานการณ์ในวิถีการดำรงชีวิต ผู้สอนอาจนำเสนอสถานการณ์ในวิถีการดำรงชีวิต ผู้สอนอาจนำเสนอสถานการณ์ให้ผู้เรียนสืบค้นปัญหา หรือ อาจใช้สถานการณ์และปัญหาจริงที่ผู้เรียนประสบมาในชีวิตของตนเอง หรือผู้สอนอาจจัดเป็นสถานการณ์จำลอง หรือนำผู้เรียนไปเผชิญสถานการณ์นอกห้องเรียนก็ได้ สถานการณ์ที่ใช้ในการศึกษา อาจเป็นสถานการณ์เกี่ยวกับตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือหลักวิชาการก็                
      ขั้นที่ 2 ขั้นรวบรวมข้อมูลและผสมผสานข้อมูล 2 ด้าน เมื่อค้นพบปัญหาแล้ว ให้ผู้เรียนศึกษาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้น โดยรวบรวมข้อมูลที่ให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านที่เกี่ยวกับตนเอง ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านหลักวิชาการ
       ขั้นที่ 3 ขั้นการตัดสินใจอย่างมีเป้าหมาย เมื่อมีข้อมูลพร้อมแล้วให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา โดย ไตร่ตรองถึงผลที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวม และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด คือทางเลือกที่เป็นไปได้เพื่อการเกื้อกูลต่อชีวิตทั้งหลาย
      ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติและตรวจสอบ เมื่อตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติได้แล้ว ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง หรือร่วมมือกับกลุ่มตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างพากเพียร ไม่ท้อถอย
      ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล และวางแผนพัฒนา เมื่อปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ลุล่วงแล้ว ให้ผู้เรียนประเมินผลการปฏิบัติว่า การปฏิบัติประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคอะไร และเกิดผลดี ผลเสียอะไรบ้าง และวางแผนงานที่จะพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัตินั้นให้ได้ผลสมบูรณ์ขึ้น หรือวางแผนงานในการพัฒนาเรื่องใหม่ต่อไป


รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง : โมเดลซิปปา (CIPPA) พัฒนาโดย ทิศนา แขมมณี



  รูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง : โมเดลซิปปา (Cippa  Model) หรือรูปแบบการประสานห้าแนวคิด  ได้พัฒนาขึ้นโดยทิศนา แขมมณี ซึ่งได้พัฒนารูปแบบจากประสบการณ์ในการสอนมากว่า  30  ปี และพบว่าแนวคิดจำนวนหนึ่งสามารถใช้ได้ผลดีตลอดมา จึงได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาประสานกันเกิดเป็นแบบแผนขึ้น แนวคิดดังกล่าวได้แก่  
1. แนวคิดการสร้างความรู้ 
2. แนวคิดกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้แบบร่วมมือ 
3. แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้
4. แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้
5. แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนความรู้
        เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาจัดการเรียนการสอนพบว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนได้ครบทุกด้าน  ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย  อารมณ์  สติปัญญาและสังคม  โดยหลักการของโมเดลซิปปา ได้ยึดหลักการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ในตัวหลักการคือการช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้  ช่วยให้ผู้เรียนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ให้มากที่สุด  มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและได้เรียนรู้จากกันและกัน  มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้  ความคิดเห็นและประสบการณ์  ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ   ร่วมกับการผลิตผลงานซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้นักเรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองตามแนวคิด  Constructivism  (ทิศนา  แขมมณี, 2542 )
แนวคิดทั้ง 5 เป็นที่มาของแนวคิด "CIPPA" ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงสุด โดยการให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง จากแนวคิดข้างต้น สรุปเป็นหลักซิปปา (CIPPA) ได้ดังนี้
1.C มาจากคำว่า Construction of knowledge หลักการสร้างความรู้ หมายถึง การให้ผู้เรียนสร้างความรู้ตามแนวคิดของ Constructivism ซึ่งเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นประสบการณ์เฉพาะตนในการสร้างความหมายของสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง กล่าวคือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง ซึ่งการที่ผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความรู้ด้วยตนเองนี้เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
2. I มาจากคำว่า Interaction หลักการปฏิสัมพันธ์ หมายถึง การให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งตามทฤษฎี Constructivismและ Cooperative Learning เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคมที่บุคคลจะต้องอาศัยและพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกัน กล่าวคือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคล และแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม
3. มาจากคำว่า Process Learning หลักการเรียนรู้กระบวนการ หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่างๆ เพราะทักษะกระบวนการเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสาระ (Content) ของการเรียนรู้ กล่าวคือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการคิด กระบวนการทำงาน กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเป็นสิ่งที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ตลอดชีวิต รวมทั้งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านสติปัญญาอีกทางหนึ่ง
4. มาจากคำว่า Physical participation / Involvement หลักการมีส่วนร่วมทางร่างกาย หมายถึง การให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยการทำกิจกรรมในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย กล่าวคือ การเรียนรู้ต้องอาศัยการเรียนรู้การเคลื่อนไหวทางกายจะช่วยให้ประสาทการรับรู้ "active" และรับรู้ได้ดีดังนั้นในการสอนจึงจาเป็นต้องมีกิจกรรมให้ผู้เรียนต้องเคลื่อนไหวที่หลากหลาย และเหมาะสมกับวัยและความสนใจของผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการรับรู้และเรียนรู้
5. มาจากคำว่า Application หลักการประยุกต์ใช้ความรู้ หมายถึง การนาความรู้ไปประยุกต์ใช้ กล่าวคือ การนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงหรือการปฏิบัติจริง จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น กิจกรรมการเรียนรู้ที่มีแต่เพียงการสอนเนื้อหาสาระให้ผู้เรียนเข้าใจ โดยขาดกิจกรรมการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้ผู้เรียนขาดการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร การจัด กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนาความรู้ไปประยุกต์ใช้นี้ เท่ากับเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้านแล้วแต่ลักษณะของสาระและกิจกรรมที่จัดนอกจากนี้ การนำความรู้ไปใช้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน 

กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ

          ซิปปา (CIPPA) เป็นการหลักซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลัก “CIPPA” นี้สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย ซึ่งอาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้และได้มีการนำไปทดลองใช้แล้วได้ผลดี ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินการ 7 ขั้นตอนดังนี้
          ขั้นที่ 1 การทบทวนความรู้เดิม ขั้นนี้เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน ซึ่งผู้สอนอาจใช้วิธีการต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย
          ขั้นที่ 2 การแสวงหาความรู้ใหม่ ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่ของผู้เรียนจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งครูอาจจัดเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้
          ขั้นที่ 3 การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล/ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความเดิม ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูล/ความรู้ที่หามาได้ ผู้เรียนจะต้องสร้างความหมายของข้อมูล/ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยใช้กระบวนการต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ใช้กระบวนการคิด และกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
         ขั้นที่ 4 การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตน รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนเองให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนแก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากความรู้ ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
          ขั้นที่ 5 การสรุปและจัดระเบียบความรู้ ขั้นนี้เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่ และสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
          ขั้นที่ 6 การปฏิบัติ และ/หรือการแสดงผลงาน หากข้อความรู้ที่ได้เรียนรู้มาไม่มีการปฏิบัติ ขั้นนั้นจะเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตนเองและช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่หากต้องมีการปฏิบัติตามข้อความรู้ที่ได้ ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย
          ขั้นที่ 7 การประยุกต์ใช้ความรู้ ขั้นนี้เป็นขั้นของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้นๆ
         การจัดการเรียนการสอนตาม CIPPA Model สามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนมี ส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งทางด้านกาย สติปัญญา และสังคม ส่วนการมีส่วนร่วมทางด้านอารมณ์นั้น ความจริงแล้วมีเกิดขึ้นควบคู่ไปกับทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกาย สติปัญญา และสังคม ซึ่งหากครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ตามหลักดังกล่าวแล้ว การจัด การเรียนการสอนของครูก็จะมีลักษณะที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง วิธีการที่จะจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับ CIPPA Model สามารถทำได้โดยครูอาจเริ่มต้นจากแผนการสอนที่มีอยู่แล้ว และนำแผนดังกล่าวมาพิจารณาตาม CIPPA Model หากกิจกรรมตามแผนการสอนขาดลักษณะใดไป ก็พยายามคิดหากิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มลักษณะดังกล่าวลงไป หากแผนเดิมมีอยู่บ้างแล้ว ก็ควรพยายามเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อกิจกรรมจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทำเช่นนี้ได้จนเริ่มชำนาญแล้ว ต่อไปครูก็จะสามารถวางแผนตาม CIPPA Model ได้ไม่ยากนัก



อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.
ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/298582การจัดการเรียนรู้โดยการใช้กระบวนการเผชิญสถานการณ์. เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2561.




1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าดำเนินการไม่ครบทั้ง 7 ขั้นตอน ในการสอนครั้งหนึ่งๆ ถามว่าควรจะแบ่งขั้นตอนการสอนของ 7 ขั้นตอนนี้ อย่างไรจึงจะเหมาะสมคะ

    ตอบลบ